กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนใหม่เพื่อคนไทยทุกเพศทุกวัย

กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนใหม่เพื่อคนไทยทุกเพศทุกวัย กองทุนนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร สมัครอย่างไร และให้ผลตอบแทนเป็นยังไงบ้าง

กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนที่จะทำให้ประชาชนคนไทยที่ไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญสามารถมีบำนาญได้เช่นเดียวกับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและพนักงานเอกชน โดยรัฐบาลได้ชูจุดเด่นของกองทุนนี้คือต้องการให้คนไทยทุกคนมีบำนาญไว้ใช้ยามแก่ชรา เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบการออมเพื่อการชราภาพที่ครอบคลุมภาคแรงงานทุกประเภทได้อย่างทั่วถึง ซึ่งยังมีแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพ และแรงงานเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความยากจนในวัยสูงอายุ เพราะไม่มีช่องทางให้เข้าถึงเครื่องมือการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน

ดังนั้นรัฐบาลจึงจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของบำนาญ อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ

ผู้ที่มีสิทธิ์เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
  1. สัญชาติไทย
  2. อายุไม่น้อยกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี
  3. ไม่อยู่ในกองทุนตามกฎหมายอื่นที่่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้าง
  4. ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐหรือเอกชน

***ข้อยกเว้นสำหรับในช่วง 1 ปีแรกที่เปิดรับสมาชิก โดยผู้สมัครที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็มีสิทธิ์ออมกับกองทุนได้สูงสุด 10 ปี อีกทั้งประชาชนผู้มีอายุเกิน 60 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใด ก็มีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกและออมกับกองทุนได้สูงสุด 10 ปีเช่นกัน

ข้าราชการและลูกจ้างเอกชนสามารถสมัครกองทุนการออมแห่งชาติได้หรือไม่ สมัครได้และมีสิทธิ์ส่งเงินสะสมกับกองทุนการออมแห่งชาติได้ แต่รัฐจะไม่สมทบเงินให้ อีกทั้งเงินที่สะสมในระหว่างที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างเอกชนจะไม่ถูกนำมารวมเป็นเงินบำนาญในกรณีที่สมาชิกพ้นจากสภาพความเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างเอกชนแล้ว

ข้าราชการบำนาญสมัครกองทุนการออมแห่งชาติได้หรือไม่

  • หากอายุไม่เกิน 60 ปี มีสิทธิ์เป็นสมาชิกของกองทุนได้
  • หากอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป จะต้องสมัครภายใน 1 ปีแรกที่กองทุนเปิด (ภายในวันที่ 25 กันยายน 2559) และเป็นสมาชิกได้สูงสุด 10 ปี

ผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติได้หรือไม่

  • ผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติได้ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
  • ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 สามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติได้
  • ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 จะต้องย้ายไปอยู่ทางเลือกที่ 1 ก่อน จึงจะมีสิทธิ์เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติได้
  • ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3, 4, 5 มีสิทธิ์โอนมาเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติได้ตามความสมัครใจ

หมายเหตุ ผู้ประกันตนมาตรา 40 หมายถึง บุคคลที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 หรือเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา 39 เรียกว่า ผู้ประกันตนโดยอิสระ

การสมัครเป็นสมาชิกกองทุน

  1. ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ สามารถสมัครได้ที่ธนาคารของรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา นอกจากจะเป็นช่องทางในการรับสมัครสมาชิกแล้ว ยังเป็นช่องทางรับเงินสะสมจากสมาชิกกองทุนอีกด้วย โดยหลักฐานที่ใช้ในการสมัครมีเพียงบัตรประจำตัวประชาชนใบเดียวเท่านั้น
  2. สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติต้องเริ่มสะสมเงินงวดแรกพร้อมกับการสมัครสมาชิก โดยการส่งเงินสะสมจะต้องสะสมไม่น้อยกว่าครั้งละ 50 บาท แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี ทั้งนี้สมาชิกไม่จำเป็นที่จะต้องส่งเงินสะสมทุกเดือน และไม่จำเป็นต้องส่งเงินสะสมเท่ากันทุกเดือน

ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ

สิ่งที่สมาชิกจะได้รับคือ เงินสะสม, ดอกเบี้ยเงินฝาก, เงินที่รัฐสมทบให้ อีกทั้งรัฐจะค้ำประกันผลตอบแทนไม่ให้ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารพาณิชย์ใหญ่อีก 5 แห่ง

สมาชิกจะมีเงินที่ได้จากการส่งเงินสะสมไว้ใช้ในยามแก่ชรา พูดง่าย ๆ ว่าเหมือนเรามีเงินบำนาญ โดยที่พิเศษสุด ๆ เลยก็คือ เมื่อสมาชิกส่งเงินสะสม รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้ภายในสิ้นเดือนถัดไป โดยเงินสะสมที่รัฐจ่ายให้กับสมาชิกจะมีสัดส่วนสัมพันธ์กับอายุของสมาชิกในขณะที่ส่งเงินสะสมนั้น ดังนี้

  1. อายุสมาชิก 15 – 30 ปี รัฐบาลให้เงินสมทบ 50% ของเงินสะสมแต่ไม่เกินปีละ 600 บาท
  2. อายุสมาชิก มากกว่า 30 – 50 ปี รัฐบาลให้เงินสมทบ 80% ของเงินสะสมแต่ไม่เกินปีละ 960 บาท
  3. อายุสมาชิก มากกว่า 50 ปีขึ้นไป รัฐบาลให้เงินสมทบ 100% ของเงินสะสมแต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท

ทั้งนี้จะมีการทบทวนเพดานเงินสะสมและเงินสมทบในทุก 5 ปี ตามความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ

หมายเหตุ หากสมาชิกส่งเงินสะสมเฉลี่ยน้อยกว่า 600 บาทต่อเดือน กองทุนการออมแห่งชาติจะไม่สามารถจ่ายเงินบำนาญให้แก่สมาชิก แต่จะจ่ายเป็น “เงินดำรงชีพ” แทน

ในระหว่างที่เป็นสมาชิก สามารถถอนเงินออกมาใช้ก่อนได้หรือไม่ กองทุนการออมแห่งชาติจะอนุญาตให้สมาชิกถอนเงินออกในกรณีเดียวเท่านั้นคือ เมื่อสมาชิกลาออกจากกองทุนก่อนอายุ 60 ปีบริบูรณ์ และจะได้รับเฉพาะเงินที่สมาชิกสะสมมาและดอกเบี้ยเท่านั้น (ไม่ได้เงินสมทบ)

เมื่อได้งานเป็นลูกจ้างเอกชน หรือข้าราชการต้องลาออกจาก กอช. หรือไม่ โดยเมื่อสมาชิกได้งานและเป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคม กองทุน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนการออมเพื่อการชราภาพอื่น ๆ สมาชิกก็ยังคงสถานภาพความเป็นสมาชิกและมีสิทธิ์ส่งเงินสะสมกับ กองทุนการออมแห่งชาติ ได้เช่นเดิม แต่รัฐจะไม่สมทบเงินให้ และเงินที่สะสมในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่ถูกนำมารวมคำนวณเป็นเงินบำนาญ อย่างไรก็ตามในกรณีที่สมาชิกออกจากงานและมาเป็นแรงงานนอกระบบอีกครั้ง สมาชิกสามารถกลับเข้ากองทุนการออมแห่งชาติได้โดยส่งเงินสะสมและได้รับเงินสมทบจากรัฐดังเดิม

สมาชิกเมื่ออายุครบ 60 ปี แล้วยังคงได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีกหรือไม่ สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติไม่จำเป็นต้องลาออกจากกองทุน หากสะสมเงินกับกองทุนมาเรื่อย ๆ จนครบอายุ 60 ปีแล้ว เพราะแม้จะเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ก็ยังคงมีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่เช่นเดิม

สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ จะได้รับเงินในกรณีใดบ้าง

  1. อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ สมาชิกจะได้รับบำนาญรายเดือนตลอดชีวิต หากออมน้อยจะได้รับเป็นเงินดำรงชีพรายเดือนเดือนละ 600 บาท จนกว่าเงินในบัญชีจะหมด
  2. ทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี สมาชิกจะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ สมาชิกจะได้รับเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
  3. ลาออกจากกองทุน สมาชิกจะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม
  4. เสียชีวิต ผู้ได้รับประโยชน์หรือทายาทได้รับเงินเท่าจำนวนเงินในบัญชี (เงินในบัญชี ได้แก่ เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์) ของแต่ละบุคคล

กรณีที่ได้รับบำนาญ จะได้รับไปจนถึงอายุเท่าใด เมื่อสมาชิกมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และยอดเงินในบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติของสมาชิกมีจำนวนมากพอ สมาชิกจะได้รับบำนาญรายเดือน ซึ่งจะได้รับไปตลอดชีพ โดยกองทุนการออมแห่งชาติจะจ่ายบำนาญให้กับสมาชิกทุกเดือน เดือนละเท่า ๆ กัน แม้ว่าจำนวนเงินในบัญชีรายบุคคลของสมาชิกจะหมดลงไปแล้วก็ตาม กองทุนการออมแห่งชาติจะใช้เงินกองกลางจ่ายบำนาญให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต

มีเงินออมน้อย จะได้รับบำนาญหรือไม่ หากสมาชิกส่งเงินสะสมเฉลี่ยน้อยกว่า 600 บาทต่อเดือน กองทุนการออมแห่งชาติจะไม่สามารถจ่ายเงินบำนาญให้แก่สมาชิก แต่จะจ่ายเป็น “เงินดำรงชีพ” แทน โดยการจ่ายเงินจะจ่ายเป็นเงินดำรงชีพเท่า ๆ กันทุกเดือนจนกว่าเงินในบัญชีของสมาชิกจะหมดลง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กองทุนการออมแห่งชาติ

แบ่งปัน