เทคนิคการขับรถขึ้นลงเขา

ลมหนาวเริ่มมาแล้ว โดยเฉพาะกับช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ หลายคนเตรียมตัวที่จะไปสัมผัสลมหนาว ไอหมอก ซึ่งสถานที่เหล่านี้ล้วนจะต้องเป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขา ไต่ภูสุดสูงเพื่อที่จะได้ไปรับลมหนาวให้สมใจอยาก เพียงแค่ลมหนาวเริ่มพัดมา ก็มีข่าวรถเกิดอุบัติเหตุตกเขาให้เห็นกันบ้างแล้ว ซึ่งก็มีด้วยกันหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นคนขับไม่ชินเส้นทาง สภาพรถไม่พร้อมกับการเดินทางกับสภาพเส้นทางดังกล่าว รวมถึงผู้ขับขี่ขาดความรู้ความชำนาญกับการใช้รถโดยเฉพาะกับระบบเกียร์กับสภาพเส้นทางที่มีสภาพแบบขึ้นเขาลงเขา ต้องขึ้นเนินลงเนินนั้น ระบบเกียร์นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถ้าผู้ขับขี่ใช้เกียร์ไม่เหมาะสม ก็สามารถทำให้ระบบของรถยนต์นั้นเกิดความเสียหายจนไม่สามารถเดินทางต่อได้ จนไปถึงเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ โดยจะแบ่งตามประเภทของเกียร์รถยนต์

1. เกียร์ Automatic หรือเกียร์ออโต้

ในรถยนต์ที่ใช้เกียร์ Automatic หรือเกียร์ออโต้ เป็นเกียร์ที่ใช้ง่ายสะดวกสบาย แต่กับสภาพเส้นทางขึ้นลงเขานั้น ถ้าใช้ไม่เป็นสามารถเกิดความเสียหาย หรืออุบัติเหตุได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ขับขี่หลายคนไม่เข้าใจการทำงาน และสัญลักษณ์ที่แป้นเกียร์นั้นคืออะไร รู้เพียงแต่ว่า เข้าตำแหน่ง D ก็ขับไปได้แล้ว แต่ 2 3 L S รวมถึงที่มีตำแหน่ง + – นั้นหมายถึงอะไร

ในกรณีที่ขึ้นเขาหรือเนิน อย่างที่กล่าวไว้เกียร์ออโต้นั้นสะดวกสบาย จะมีเซ็นเซอร์วัดความลาดเอียงโดยจะเปลี่ยนเกียร์ให้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อใช้รอบเครื่องที่ไม่สัมพันธ์กับความเร็ว แต่ทางขึ้นเนินที่ชันมากๆ รถอาจจะตอบสนองไม่ทันที โดยเฉพาะรถรุ่นเก่าๆ ให้ผู้ขับขี่ต้องเลื่อนตำแหน่งเกียร์ช่วย โดยเปลี่ยนมาที่ 2 หรือ 3 แล้วแต่ระบบเกียร์ แต่ในรถที่มีโหมดManual ให้ผลักคันเกียร์มาที่โหมด Manual แล้วดึงมาที่ตำแหน่ง – เปลี่ยนใช้เกียร์ที่เหมาะสม

เมื่อต้องลงเขาหรือเนินสำหรับรถเกียร์ออโต้นั้น เกียร์สามารถเปลี่ยนให้อัตโนมัติเช่นกัน แต่ในบางครั้ง เมื่อผู้ขับขี่ดูว่ารถยนต์วิ่งเร็วจนเกินไป ก็ต้องใช้เทคนิคเอ็นจิ่นเบรกเช่นเดียวกัน อย่าใช้การเลียเบรกเพื่อควบคุมความเร็ว จะทำให้เบรกร้อนจนเบรกแตกได้เช่นเดียวกัน ให้เปลี่ยนตำแหน่งคันเกียร์มาที่ 2 หรือ 3 และถ้าชันมากๆ อาจจะต้องใช้ที่ L และรถที่โหมด Manual ผลักคันเกียร์ที่โหมด Manual แล้วดึงเกียร์ในตำแหน่ง – ลดเกียร์ลง จนความเร็วเหมาะสมในการควบคุมรถ และเมื่อเข้าสู่เส้นทางปกติ อย่าลืมปรับคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง D เหมือนเดิม การใช้เกียร์ต่ำขับไปนานๆ จะทำให้ชุดเกียร์สะสมความร้อนสร้างความเสียหายกับระบบได้

2. เกียร์ Manual หรือเกียร์ธรรมดา

การขับรถเกียร์ Manual หรือเกียร์ธรรมดา กับสภาพเส้นทางขึ้นลงเขานั้น เป็นสิ่งที่หลายคนนั้นหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพวกบรรดามือใหม่ แค่รถติดคาทางขึ้นสะพานก็นั่งเหงื่อออก กลัวรถไหล กลัวออกรถแล้วดับ แต่ความจริงแล้วไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้ามีความคุ้นเคยกับระบบเกียร์ของรถที่ขับอยู่เป็นประจำ

การขึ้นเขาหรือขึ้นเนิน ก่อนอื่นผู้ขับขี่จะต้องคาดการณ์กับเส้นทางข้างหน้าถึงความชัน ถ้าไม่ชันมาก ในรถรถรุ่นใหม่ๆ ที่มีแรงบิดสูงในรอบต่ำ ส่วนมากจะเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล สามารถกดคันเร่งส่งขึ้นไปได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ โดยให้ฟังจากเสียงเครื่องยนต์ หรือความเร็วที่ลดลง ให้เปลี่ยนเกียร์ลดลงมาจากเกียร์ที่ใช้อยู่ แต่ถ้าวิ่งขึ้นไปแล้ว ความเร็วลดลงเหมือนเครื่องยนต์ไม่มีกำลัง เครื่องยนต์สั่นเหมือนเครื่องจะน็อคหรือดับ ให้รีบเหยียบคลัตช์แล้วเปลี่ยนเกียร์ลงมาต่ำมากๆ ที่เกียร์ 1 หรือ 2 ขึ้นอยู่กับความลาดชัน

กรณีที่มีเหตุต้องหยุดรถในระหว่างขึ้นเนิน ถ้าไม่หมั่นใจเมื่อต้องออกรถ กลัวรถไหลในจังหวะที่จะคลายคลัตช์ออกมา ให้ฝึกใช้เบรกมือช่วยในการออกตัว คือดึงเบรกมือ เหยียบคลัตช์ เข้าเกียร์ 1 กดคันเร่งเล็กน้อย ค่อยคลายเท้าออกจากคลัตช์ จังหวะที่คลัตช์จับตัวกับชุดเกียร์ ให้ปลดเบรกมือลง ผู้ขับขี่สามารถลองฝึกสร้างความคุ้นเคยดูได้ เมื่อเราขับรถในเวลาปกติ

ในสภาพเส้นทางที่เราไม่คุ้นเคย หรือไม่เคยเดินทางผ่านมาก่อน ผู้ขับขี่ต้องสังเกตจากป้ายจราจรข้างทาง ที่จะมีป้ายเตือนถึงความลาดชันของเส้นทางที่เราจะขับรถผ่านไป

กรณีลงเขาหรือลงเนินในรถเกียร์ธรรมดานั้น จะใช้เทคนิคเอ็นจิ่นเบรกช่วย แทนการใช้เบรกเพื่อควบคุมความเร็วในการลงเนิน เพราะเมื่อใช้เบรกมากๆ เป็นระยะทางไกลๆ หรือนานๆ ระบบเบรกจะร้อน จะทำให้เบรกเฟด จนเบรกไม่อยู่ หรือเบรกแตกตามประสาชาวบ้าน จะทำให้เกิดอันตรายได้ ให้ใช้เกียร์ช่วย โดยเปลี่ยนเกียร์ต่ำลง ใช้เบรกช่วยได้เป็นบางช่วง จนความเร็วนั้นเหมาะสมในการควบคุมรถได้อย่างปลอดภัย

 

ทั้งขึ้น หรือลง ที่ข้างทางเป็นเขา และอีกฝั่งเป็นเหว เมื่อจอดรถแล้วให้หักพวงมาลัยมาฝั่งตรงกันข้ามกับเหว หรือหักพวงมาลัยเข้าเขานั่นเอง ทั้งขาขึ้นและขาลงเนิน เผื่อผู้ขับขี่เผลอเลอรถจะได้ไม่ไหลตกเหวไป

ฝากกันไว้ลองฝึกและศึกษาสร้างความคุ้นเคยกับระบบเกียร์ของรถคุณ ก่อนเดินทางก็ควรศึกษาเส้นทางล่วงหน้า ตรวจสอบเช็คสภาพรถก่อนเดินทางทุกครั้ง

ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ รู้ใจดอทคอม

แบ่งปัน